วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การลงทุนใน Growth stock และจิตวิทยาการลงทุน

นพ. พงศกร  เอื้อชวาลวงศ์

Mind Investing Blog

ผมได้สรุปเนื้อหาที่ผมได้บรรยายในงานสังสรรค์ VI ไตรมาส 2 ลงในบทความนี้นะครับ  ต้องขอบคุณทางสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าที่ให้เกียรติเชิญผมไปเป็นวิทยากรในงานนี้  ขอบคุณผู้ฟังทุกท่านที่ตั้งใจฟัง  ไม่มีใครคุยกันเลย...หลายตั้งใจจดมากแม้ว่าผมบอกแล้วว่าจะแจกใน Blog 

ขอบคุณภรรยาที่ช่วยตัด Slide ให้เพราะว่าผมงานประจำเยอะมากจนแทบไม่มีเวลาทำ  แถมยังมาเป็นกำลังใจให้ถึงขอบเวทีด้วยครับ  ขอบคุณครับ

ผมได้พยายามเต็มที่แล้วที่จะให้เนื้อหาเกี่ยวกับหุ้นเติบโตครบถ้วน  เข้าใจง่ายที่สุดภายในเวลา 2 ชม.  เริ่มตั้งแต่ง่ายไปยาก  พยายามจะใส่จุดที่นักลงทุนหลายคนยังเข้าใจผิดและทำให้ภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้น  และนำหลักการที่ผมให้ไปใช้จริงได้ครับ

ต่อไปนี้จะเป็นเนื้อหาใน Slide ที่จะไปบรรยายนะครับ  และผมจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนหุ้นเติบโต (Growth investing) แบบในรายละเอียดอีกครั้ง  เพื่อนนักลงทุนที่สนใจสามารถติดตามได้ครับ

การลงทุนใน Growth stock และจิตวิทยาการลงทุน

Outline
- ทำไมต้องลงทุนในหุ้นเติบโต?
- ความเข้าใจเรื่องหุ้นเติบโต
- ความสำคัญของเวลา / ความเข้าใจเรื่องอนาคต / มองอนาคตโดยใช้จินตนาการและเหตุผล
- ภาพลวงตาของ PE / คุณภาพและอนาคตของกำไร
- พฤติกรรมผู้บริโภค
- การมอง Business model ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจโดยรวม / Natural selection ในระบบทุนนิยม / Megatrend
- ความสามารถในการแข่งขัน (DCA) - สิ่งที่สำคัญต่อการอยู่รอดและเติบโต
- การเลือกหุ้นจากชีวิตประจำวัน / Systemic approaching
- ช่องทางการเติบโตของกำไร
- ที่มาของการขยายธุรกิจ / เอาเงินมาจากไหนมาขยายการเติบโต?
- การพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ธุรกิจ
- การพัฒนาจิตใจของนักลงทุนหุ้นเติบโต / จิตวิทยาการลงทุน

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การทำธุรกิจ VS การลงทุนในหุ้น

ผมสังเกตว่าหลายคนที่เข้ามาเล่นหุ้นเพราะไม่อยากทำงานประจำที่มีรายได้น้อย  ฝันที่จะไม่ต้องทำงานแล้วมีเงินไหลเข้ามือตลอดเวลา...ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่อง Passive income ที่นิยมมากตั้งแต่มีหนังสือเรื่องพ่อรวยสอนลูก

การทำงานประจำ การทำธุรกิจส่วนตัวเป็นสิ่งไม่ควรเสียเวลาไปทำเพราะเป็นงานฝั่งซ้ายหรือเปล่า? (เรื่องฝั่งซ้าย - ฝั่งขวาผมจะอธิบายต่อไปนะครับ)

ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะเคยอ่านหนังสือชุดพ่อรวยสอนลูกของ Robert T. Kiyosaki ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือการสร้าง Mind Set ในการลงทุนที่ดีมาก  ผมอ่านไป 2 เล่ม คือ  พ่อรวยสอนลูกและเงินสี่ด้าน  ซึ่งหนังสือเล่มแรกจะพูดถึงนิยามของทรัพย์สินและหนี้สินในความหมายของการนำเข้าหรือดึงออกของกระแสเงินสด  ให้เราซื้อทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสดเข้าพอร์ต  ลดหนี้สินที่ดึงกระแสเงินสดออกจากพอร์ต  หนังสือเล่มที่ 2 จะพูดถึงที่มาของรายได้ว่าไม่ได้แค่เงินเดือนหรือค่าจ้างจากการทำงานเพียงอย่างเดียว...แต่ที่มาของรายได้มีถึง 4 ทางหลัก  ซึ่งผมจะทยอยแจกแจงให้ฟังครับ

เงิน 4 ด้าน ประกอบด้วย E  S  อยู่ฝั่งซ้าย  และ B  I  อยู่ฝั่งขวา

ฝั่งซ้าย

E = Employee (ลูกจ้าง) ทำงานประจำรับเงินเดือน  ไม่ว่างานของเราจะเป็นงานตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือไปจนถึงงานที่เป็นวิชาชีพต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน  ถ้าได้รับเงินเดือนเป็นรายได้ถือว่าเป็นกลุ่ม Employee ครับ

S = Self employed (ธุรกิจส่วนตัว) รายได้มาจากกิจการของเราเอง  โดยที่เป็นงานที่เราคนเดียวที่ทำได้

ทั้ง E และ S ถือว่ารายได้มาจากการทำงาน  ถ้าไม่ทำงานย่อมไม่มีรายได้...เป็นความเข้าใจที่คนส่วนใหญ่มีกัน  เมื่อก่อนผมก็คิดอย่างนี้ครับ  ซึ่งมีธุรกิจมากมายที่เข้ามาหารายได้จากผู้ที่ความคิดว่า..."ถ้าไม่ทำงานย่อมไม่มีรายได้" เช่น  ธุรกิจประกันชีวิตที่เข้ามาเติมเต็มความมั่นคง...ให้เราอุ่นใจว่าเมื่อเราเจ็บป่วยเราจะมีค่ารักษาพยาบาลและรายได้ชดเชยเวลาที่เราไม่ได้ทำงาน,  ธุรกิจด้านการลงทุน กองทุนรวม เข้ามาระดมเงินจากเงินออมของมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการของฝั่งซ้าย...คือธุรกิจที่เกี่ยวกับฝั่งขวาทั้งสิ้น  (ไม่ต้องทำงานหรือทำงานจนถึงจุดหนึ่งจะรายได้เข้ามาโดยไม่ต้องทำงาน)
  ฝั่งขวา

B = Business owner (เจ้าของระบบธุรกิจ)  มีกิจการของตัวเองแต่ไม่ต้องดูแลตลอดเวลา  สามารถจ้างคนเก่งมาทำแทนได้  โดยเราเป็นผู้ดูแลระบบให้เป็นไปได้ด้วยดี

I = Investor (นักลงทุน)  เรานำเงินออมไปซื้อสินทรัพย์ที่สร้างรายได้และมีกระแสเงินสดเข้าพอร์ต  เช่น  หุ้น  พันธบัตร  ที่ดิน  อพาร์ตเม้นท์ให้เช่า  เป็นต้น  ให้เงินทำงานหาเงินแทนเรา

(ช่วงหลังจากนี้ผมจะใช้ตัวย่อ  ให้อ้างอิงตามด้านบนนะครับ)

ผมไม่คิดว่าอาชีพด้านขวา (B,I) ดีกว่าหรือเหนือกว่าด้านซ้าย (E,S) ในแง่ของคุณค่าเรื่องอาชีพการงาน  เพราะงานทุกงานล้วนแต่สร้างประโยชน์ต่อผู้คนและมีประโยชน์ต่อระบบโดยรวมทั้งนั้น  (ผมหมายถึงอาชีพ"สุจริต"ทุกอาชีพนะครับ)  แต่สิ่งที่ผมได้จากหนังสือคือ..."รายได้ไม่ได้มาจากทางเดียวและไม่จำเป็นต้องมาจากการทำงาน"      

การทำอาชีพด้านซ้าย (E,S) มีผลดีต่อการพัฒนาตัวเราครับ

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเชื่อของผมในเรื่องการลงทุน

มนุษย์ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ล้วนมีความเชื่อ  บ้างก็เชื่อในศาสนา  บ้างเชื่อในพระเจ้า  บ้างเชื่อในแนวคิดอะไรบางอย่าง...  บางทีความเชื่ออาจจะได้รับการคัดเลือกมาตามหลัก Natural selection เนื่องจากมีประโยชน์ในการอยู่รอดและขยายเผ่าพันธุ์  แต่นั่นก็เป็นเพียงสมมุติฐาน

ความเชื่อ...หลายๆครั้ง  ความเชื่อนั้นอาจจะไม่มีเหตุผลรองรับ  ไม่มีหลักฐาน  หลายๆครั้งความเชื่อก็พาเราเข้าสู่ความงมงาย  ไร้ซึ่งปัญญา

แต่หลายๆครั้งความเชื่อก็มีประโยชน์  เช่น  ความเชื่อในการทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่วในลักษณะผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจริงๆในอนาคตไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ทางใจ  เราไม่สามารถพิสูจน์เป็นตัวเลขที่ชัดเจนหรือความความสัมพันธ์เชิงเส้นได้เลย  แต่ความเชื่อนี้ทำให้ชีวิตของผู้ที่เชื่อและปฎิบัติตามเป็นคนดี  ไม่ทำความชั่ว  สังคมก็มีแต่ความสุข

(ส่วนตัวผมเชื่อเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วในผลลัพธ์ทางจิตใจ  เพราะเห็นชัดเจนขณะที่ทำทันที  และเห็นผลดีต่อผู้รับอย่างชัดเจน  คนอื่นจะยกย่องหรือไม่...ไม่สำคัญ  ส่วนผลลัพธ์ต่อตัวเราในเชิงรูปธรรมในอนาคตผมไม่ทราบจริงๆ  แต่เหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอที่จะเชื่อแล้ว)

ความเชื่อว่าชีวิตต้องดีขึ้นอาจจะพาเราผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายได้  แม้ว่าจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร   แต่คนที่เชื่อจะลุกขึ้นสู้แม้ว่าจะมองไม่เห็นทาง  สู้ไปสู้มาสถานการณ์เปลี่ยน...ชีวิตเลยดีขึ้นจริงๆ  คนที่ไม่มีความเชื่อก็ท้อแท้ตอนที่มองไม่เห็นทาง  สุดท้ายล้มเหลวไปจริงๆ

ความเชื่อในรักแท้อาจจะทำให้เรามองหารักแท้มากกว่าคนที่ไม่เชื่อ  แม้ว่าจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร  แต่คนที่เชื่ออาจจะมองหาคนที่ใช่  เปิดใจให้กับคนที่เข้ามาในชีวิต  พยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ทั้งๆที่สิ่งที่เราเชื่อจริงหรือเปล่า??  ไม่มีใครรู้ครับ

ความเชื่อ กับ ความจริง ... อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

เมื่อมีข้อมูล, หลักฐาน, ความเชื่อได้รับการพิสูจน์  ความเชื่อจะไม่ใช่ความเชื่อจะกลายเป็นความจริงทันที  (ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ว่าความเชื่อถูกหรือผิดก็ตาม)  แต่ตราบใดที่เรายังไม่รู้  ความเชื่อจะยังคงเป็นความเชื่อต่อไป   

ในการลงทุนเราต้องแยกความเชื่อกับความจริง  ข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นให้ได้ (Fact vs Opinion)  ไม่อย่างนั้นเราจะตกอยู่ในโลกของมายาที่เราสร้างขึ้นเองด้วยอคติ (Bias) ของเรา

เช่น...ถ้าเราเชื่อว่าหุ้น A จะเป็น super stock ตัวใหม่  เราจะต้องหาข้อมูลทั้งในด้านที่สนับสนุนและขัดแย้ง  แล้วนำมาวิเคราะห์ทั้งโอกาสและความเสี่ยง  รวมถึงให้คนอื่นช่วยประเมินเพื่อลดอคติของความชอบความชังของเราลงไป  เพื่อให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ในเรื่องของการลงทุนที่ไม่มีความแน่นอน  เป็นการมองไปยังอนาคตที่ไม่มีใครสักคนในโลกล่วงรู้  โลกของการลงทุนยิ่งเต็มไปด้วยความเชื่อมากมาย

“คุณมีความเชื่ออะไรในการลงทุน??”

ในโอกาสที่ผมลงทุนมากว่า 3 ปี  ผมขอแชร์ความเชื่อของผมในเรื่องการลงทุนนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

รถยนต์










บทความนี้จะพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องการขนส่ง (transportation) เน้นเรื่องรถยนต์เป็นหลัก  มุมมองต่อรถยนต์ในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อความมั่งคั่ง  การเลือกซื้อรถยนต์ที่คุ้มค่า  ความเข้าใจอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งที่นำไปสู่การลงทุนในหุ้นเติบโตที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางทุกวันนี้แม้ว่าจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น เช่น รถไฟฟ้า เครื่องบิน (กรณีรถเมล์แดง รถไฟผมขอไม่นับเพราะถือว่ายังอันตรายและไม่ได้มาตราฐานสำหรับเมืองไทย  สังเกตได้จากข่าวอุบัติเหตุที่สื่อนำเสนอบ่อยๆ)  ผู้คนโดยเฉพาะในเมืองหลวงหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตราฐานมากขึ้นเช่น รถไฟฟ้า เพราะประหยัดและเดินทางสะดวกกว่า  แต่สำหรับคนที่มีครอบครัว คนที่เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ การมีรถยนต์เป็นของตัวเองอาจจะสะดวกกว่าและเป็นอิสระกว่าการใช้ขนส่งมวลชนไปเรื่อยๆ  ยังไม่รวมถึงคนที่ต้องการมีรถยนต์เพื่อความโก้หรูให้ผู้คนชื่นชม  ดังนั้นการซื้อรถยนต์จึงเป็นความต้องการที่ไม่เคยหมดไป  แม้ว่าความต้องการจะดูมีวัฏจักรการขึ้นลงตามรอบเศรษฐกิจ  ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีคนที่มีความต้องการรถจะชะลอการซื้อรถออกไปก่อน  เมื่อเศรษฐกิจดีผู้คนมั่นใจในความมั่นคงของงานและรายได้ของตนเอง การจับจ่ายใช้สอยในสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างรถยนต์จะเริ่มตามมา

ผมเองไม่เคยซื้อรถยนต์เลยตั้งแต่เริ่มทำงาน  โดยผมใช้การบริการขนส่งมวลชนมาตลอด เช่น เครื่องบิน รถทัวร์ รถไฟฟ้า  นั่นทำให้ผมเก็บเงินได้  แทนที่ผมจะเอาไปซื้อรถและต้องมีหนี้สินในการผ่อนรถยนต์  ผมได้มีเงินออมไปลงทุน...ซึ่งการลงทุนช่วงแรกของการทำงานจะเป็นการลงทุนในเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาลเนื่องจากยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น  ...การออมทำให้ผมมีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุนเมื่อตลาดหุ้นตกอย่างหนักปี 2008 แม้ว่าจะยังไม่มีความพร้อมเรื่องความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนก็ตาม

ปัจจัยเรื่องการไม่ซื้อรถยนต์ใหม่ด้วยเงินผ่อนตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงานและนำเงินที่ได้จากการทำงานมาเก็บออมน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ระดับสินทรัพย์ของผมต่างจากคนทั่วไปที่อายุพอๆกัน และเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันที่ทำงานพร้อมๆกัน  เพราะผมแทบไม่มีแต้มต่อคนอื่นในเรื่องของรายได้เลย  รายได้เท่าคนอื่นหรือน้อยกว่าด้วยซ้ำ  ผมไม่ได้ทำงานพิเศษ  ผมไม่ได้มีอาชีพเสริม  ผมทำงานรับราชการธรรมดาๆ  ... สิ่งที่แตกต่างคือรายจ่าย  ผมประหยัดมากกว่าคนอื่น

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

Natural selection ในการลงทุน

สมัยเรียนชั้นม.ปลาย  วิชาที่ผมชอบมากที่สุดคือ วิชาฟิสิกส์  เพราะผมรู้สึกสนุกกับการสังเกตสิ่งรอบตัวในมุมมองด้านกายภาพ  การค้นหาความจริงผ่านการทดลองและการแก้โจทย์ปัญหาในรูปแบบตัวเลขที่ชัดเจน  ส่วนวิชาที่ผมไม่ชอบที่สุดคือ  วิชาชีววิทยา  เพราะผมมองไม่เห็นอะไรมากไปกว่าการท่องจำเพื่อสอบให้ผ่านไป  ซึ่งเป็นลักษณะของการเรียนรู้แบบไทยๆ

แต่ในช่วงที่ผ่านมา  มีหนังสือ pop science ทางชีววิทยาโดยเฉพาะเรื่อง วิวัฒนาการ (Evolution) ออกมามากมายทั้งหนังสือภาษาไทยและหนังสือต่างประเทศ  กลายเป็นว่า...ชีววิทยาสนุกกว่าที่คิด!!  ผมรู้สึกสนุกมากกว่าการอ่านหนังสือชีววิทยาสมัยม.ปลายอย่างเทียบกันไม่ได้  เพราะการอ่านครั้งนี้เต็มไปด้วยความอยากรู้ ความสนุกและสามารถนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้

ผมลองจะอธิบายเรื่องวิวัฒนาการให้ฟังแบบสั้นๆนะครับ

การวิวัฒนาการ (Evolution)...ไม่ใช่การพัฒนาการ (Development)  คนส่วนใหญ่ชอบใช้การวิวัฒนาการในความหมายของการพัฒนาตนเอง  ซึ่งไม่ถูกต้อง  เพราะไม่ได้ส่งผ่านพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน  เช่น  ถ้าเราขยันเล่นกล้ามจนกล้ามใหญ่  ไม่ได้หมายความว่าลูกหลานของเราจะกล้ามใหญ่ไปด้วย  เพราะการที่เล่นกล้ามจนกล้ามใหญ่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พันธุกรรม

การวิวัฒนาการ (Evolution)...ไม่ใช่การปรับตัว (Adaptation)  เช่น  บางคนคิดว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ทำงานแต่ในห้อง  ต่อไปมนุษย์จะหัวโตแขนขาลีบเพราะใช่แต่สมอง  ซึ่งนี่ไม่ใช่วิวัฒนาการเพราะไม่ได้มีการส่งผ่านพันธุกรรมไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน  แน่นอนว่าถ้าไม่ใช้แขนขาเลย  แขนขาย่อมลีบลง  แต่นี่คือการปรับตัวตามการใช้งานของร่างกาย  ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมาในพันธุกรรมอยู่แล้ว

การวิวัฒนาการคือ...การเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมจากรุ่นหนึ่งส่งต่อไปอีกรุ่นหนึ่ง  ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่าดีขึ้นหรือแย่ลง  แต่สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดไปได้ต้องเหมาะสมที่อยู่รอดและขยายพันธุ์ในสภาวะแวดล้อมนั้นๆ

การศึกษาเรื่องวิวัฒนาการทำให้เรารู้เส้นการของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เซลเดียวจนมาถึงสิ่งมีชีวิตหลายเซลที่มีสมองส่วนหน้าพัฒนาอย่างมนุษย์เรา  ผ่านการศึกษาอย่างมีหลักฐานอย่างมีเหตุผล  ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ

สิ่งที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการมีเรื่องหลัก 2 อย่าง
1. การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม  ซึ่งอาจจะมาจากการกลายพันธุ์ (Mutation) หรือ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Sexual reproduction) ที่มีการแลกพันธุกรรมจากเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่งทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม  เมื่อพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามมา  เช่น  สามารถผลิตโปรตีนบางชนิดได้  อวัยวะบางอย่างเปลี่ยนไป  เป็นต้น
2. การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection)  สิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน  สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือ...สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดในสภาวะแวดล้อมนั้นและขยายเผ่าพันธุ์ได้  ยกตัวอย่างกรณียีราฟ  ในอดีตกาลจะมียีราฟหลายพันธ์ทั้งคอยาวคอสั้น  การที่เราเห็นยีราฟคอยาวในปัจจุบันแสดงว่า  สภาพแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมาทำให้ยีราฟคอยาวอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อเนื่องมาได้  ซึ่งสภาพแวดล้อมนั้นอาจจะเป็น  ป่าที่มีแต่ต้นไม้สูง  ทำให้ยีราฟคอสั้นหาอาหารไม่ได้และตายไป

เรื่อง Natural selection นี้เอง  ทำให้ผมมองเห็นความสำคัญของ”สภาพแวดล้อม”ที่มีผลต่อการอยู่รอดและการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์  ซึ่งสภาพแวดล้อมนั้นต้องเหมาะสมกับสิ่งมีชีวิต

ในโลกของการลงทุน  คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานาน  คนที่อยู่ในวงการธุรกิจมานาน  หรือคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไป  จะพบการเกิด การคงอยู่ การขยายตัว การเสื่อมถอยและดับไปของทั้งบริษัท อุตสาหกรรม  รวมถึงนักลงทุนและนักเก็งกำไร  ที่มีทั้งอยู่รอดในตลาดหุ้นได้  ขาดทุนหมดตัวออกจากตลาดไป  มีทั้งสร้างชื่อเป็นเซียนได้ชั่วคราวแค่ในช่วงตลาดขาขึ้น แต่ตลาดขาลงเอาตัวไม่รอดต้องออกจากตลาดไป  มีทั้งเซียนตัวจริงที่อยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์

ลองมาดูมุมมองเรื่อง Natural selection ในโลกแห่งการลงทุนกันนะครับ

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การพนัน VS การลงทุน

สมัยก่อนที่ผมจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น  ผมเคยมีเพื่อนคนนึงที่เล่นหุ้น  ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหุ้นคืออะไร  โดยเพื่อนผมเล่นหุ้นเหมือนเล่นการพนัน  ชอบถามมาร์เก็ตติ้งว่าซื้อตัวไหนดี  ขาดทุนก็โทษคนอื่น  ดูกระวนกระวายใจตลอดเวลา  ถามความเห็นคนรอบตัวตลอดเวลา  พอได้กำไรก็ดีใจโวยวาย  ช่วงนั้นผมเรียนปี 5 การเรียนจะเบาลงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมากพอที่จะมีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง  ผมเลยเอาเวลาไปเล่นหมากล้อมแทนและไม่คิดจะสนใจเล่นหุ้นเลยแม้แต่น้อย 

โอกาสการลงทุนในหุ้นของผมหายไป 5 ปีเพียงเพราะผมคิดว่าคนเล่นหุ้นทุกคนต้องเป็นแบบเพื่อนของผม  ที่เล่นหุ้นเหมือนเล่นการพนัน  ปัจจุบันเพื่อนคนนี้ยังคงเหมือนเดิมและไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาจากหุ้นแต่อย่างใด

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเสียใจมาก  ผมเข้าตลาดหุ้นช้ามากกว่าที่ควรจะเป็น  ผมเริ่มเล่นตอนอายุ 28 ปี  ทั้งที่ช่วงที่ 5 ปีผ่านมาผมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคมากมาย  สามารถวิเคราะห์เป็นหุ้นเติบโตได้หลายตัว  แต่เพียงเพราะผมไม่มีตัวอย่างนักลงทุนที่ดีและมีทัศนคติในด้านลบอย่างมากกับตลาดหุ้น

ผมไม่อยากให้นักลงทุนหน้าใหม่ต้องซ้ำรอยผม  ...ที่เคยมองว่าหุ้นคือการพนัน  เล่นแล้วอาจเจ๊งหมดตัวได้  คนที่รวยจากหุ้นต้องมีข่าววงใน  ต้องมีเวลาเฝ้าตลาดตลอดเวลา  ต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเงินหนา  ต้องตามข่าวตลอดเวลา  นักลงทุนรายย่อยคนทำงานประจำที่ค่อนข้างยุ่งอย่างผมไม่มีทางเล่นแล้วได้กำไรจากหุ้นได้  เรื่องรวยจากหุ้นไม่ต้องพูดถึง...ไม่มีทาง!!!

ทัศนคติต่อตลาดหุ้นในเชิงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก  โชคยังดีที่ช่วงปี 52 ผมได้มีผู้ใหญ่ท่านนึงแนะนำให้ผมไปอ่านหนังสือของปู่ Warren Buffet  ทัศนคติต่อการเล่นหุ้นของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป...

การมีกัลยาณมิตรเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยนะครับ  ถึงผมจะเจอช้าหน่อยแต่ผมก็ยังเจอ  และครั้งนี้ผมตั้งใจเป็นกัลยาณมิตรให้กับทุกคนโดยเฉพาะมือใหม่ครับ

เล่นหุ้นให้เป็นการลงทุนในหุ้น  ไม่ใช่การพนัน  เพราะถ้าเล่นหุ้นแบบการพนันจะได้รับผลลัพธ์แบบการพนัน ..คือ หมดตัว!

เพื่อนๆเชื่อไหมว่า...ตั้งแต่ก่อนมาเล่นหุ้น  ผมแทบไม่เล่นการพนันเลย  ป๊อกเด้งเล่นกินตังค์บาทสองบาทก็ไม่เล่น  เล่นไพ่ก็เล่นแบบไม่กินตังค์  เพราะผมคิดว่าการพนันเป็นอบายมุขเป็นทางสู่ความเสื่อม  ที่ผมเคยเล่นครั้งเดียวคือซื้อเลขท้าย 3 ตัว  ซื้อให้รู้ว่าเค้าเล่นกันยังงัย  แต่ผลลัพธ์นะเหรอ?....แน่นอนครับ...ผมถูกเจ้ามือกินเรียบ!  555

คนอย่างผมที่ไม่เล่นการพนันเลยแม้ว่าจะเดิมพัน 1-2 บาท  แต่กลับมาเล่นหุ้นด้วยจำนวนเงินเก็บเกือบทั้งหมดในช่วง 2 ปีผ่านมา  นั่นเป็นเพราะผมมองว่าการเล่นหุ้นคือการลงทุนครับ

การพนันและการลงทุนต่างกันอย่างไร?

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการประเมิน CEO ของหุ้นเติบโต : กรณีศึกษา Steve Jobs



บทความนี้จะพูดถึงการประเมินผู้บริหารนะครับ  โดยผมจะยกตัวอย่าง Steve Jobs iCEO ที่เป็นขวัญใจของผมและใครอีกหลายคนมาประกอบเนื้อหาบทความนี้  และหากบทความนี้เป็นประโยชน์กับผู้อ่าน  ขออุทิศความดีให้กับ Steve Jobs ผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของผม

Steve Jobs จัดเป็นผู้กุมความเป็นความตายการเติบโตของบริษัทแอปเปิ้ล  เนื่องจากช่วงที่เขาออกจากแอปเปิ้ลไปบริษัทแอปเปิ้ลกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางธรรมดาที่ประสบปัญหาขาดทุน  เมื่อจอบส์เข้ามาอีกครั้งแอปเปิ้ลแข็งแกร่งและเติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่มี Market caps ใหญ่ที่สุดในโลก  ราคาหุ้นขึ้นเป็น 100 เท่า (นับเวลาจากปี 1985 ตั้งแต่ที่จอบส์ลาออกจนถึงปัจจุบัน) นี่คือหุ้นเติบโตชั้นเลิศเมื่อมี CEO ชั้นเลิศเข้ามาบริหาร  บริษัทแอปเปิ้ลมีการคิดค้นและผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของคนทั้งโลกอย่าง iPhone, iPod, iPad, Macbook Air และมีร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าของแบรนด์แอปเปิ้ลอย่าง Apple Store

การลงทุนในหุ้นเติบโต  เวลาบริษัทจะมีการเติบโตขึ้นมาได้ต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสินค้าและบริการในระดับสูง (Demand trend  ขาขึ้น)  และความสามารถในการแข่งขันมากกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม (DCA)  ซึ่งหุ้นเติบโตจะมีการคิดค้นนวัตกรรม (Innovation) ที่ทำให้บริษัทเกิดความแตกต่าง (Differentiation) เพื่อที่จะก้าวมาเป็นผู้นำหรือผู้เล่นแนวหน้าในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต  ในบางอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตจะมีการใช้เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  เช่น อุตสาหรกรรม Information technology (IT), Bio technology, Nanotechnology, etc. การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่เข้าได้กับความต้องการของผู้บริโภคถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายการอยู่รอดและเติบโตของบริษัท   อย่างสินค้า IT ทุกคนรู้ดีว่าสินค้าตกรุ่นเร็วขนาดไหน

แม้แต่การผลิตสินค้าและบริการที่ดูเรียบง่ายและไม่ได้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่าง  ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) ที่เติบโตโดยการขยายสาขาตาม Model เดิมที่ประสบความสำเร็จ  ไม่ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ตลอดเวลา  ในช่วงเริ่มต้นอุตสาหกรรมการค้าปลีกสมัยใหม่จะมีการคิดค้นนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจ  (ไม่ใช่นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์เหมือนกับแอปเปิ้ลนะครับ)  ยกตัวอย่าง  เรื่องการบริหาร logistic supply chain ที่มีประสิทธิภาพ, การขายสินค้าโดยให้ผู้ชื้อเลือกของเอง (การค้าปลีกเมื่อก่อนผู้ซื้อจะต้องบอกผู้ขายและผู้ขายจะหยิบมาให้เพื่อป้องกันการขโมยของ), ระบบการคิดบัญชีแบบมีใบเสร็จ  ทำให้เจ้าของไม่ต้องเฝ้าเคาน์เตอร์คิดเงินตลอดเวลาสามารถทำงานบริหารได้เต็มที่และให้พนักงานทำงานแทน  เพราะระบบจะดูแลเรื่องการตรวจสอบการเงิน  เงินมีที่มาที่ไปและตรวจสอบความซื่อสัตย์ของพนักงานได้  หรืออีกตัวอย่าง  ร้านกาแฟอย่าง Starbuck ...จากเดิมที่อุตสาหกรรมกาแฟจะขายแต่กาแฟเป็นแก้วให้กับลูกค้า  แต่ Starbuck ได้สร้างนวัตกรรมการนั่งในร้านด้วยการแต่งร้านที่สวยงามมีบรรยากาศดี  สามารถเล่นเนตได้  นั่งคุยกับเพื่อนและเอาโน๊ตบุ๊คมาทำงานได้  รวมถึงการบริหารจัดการที่ดี การควบคุมคุณภาพสินค้าในทุกสาขา  ทำให้ Starbuck เป็นมากกว่าร้านขายกาแฟจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านธุรกิจ 

นวัตกรรมทำให้เกิดความแตกต่างและนำไปสู่การเติบโตในแบบฉบับของตนเอง

พึงระวังว่า...หุ้นเติบโตชั้นเลิศของทศวรรษนึงอาจจะเป็นคนละตัวกับทศวรรษต่อไป  ดังนั้นต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

ความยากในการลงทุนหุ้นเติบโตอย่างหนึ่งคือ  การมองให้ธุรกิจใหม่ให้ออก  เพราะโลกของธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป  เมื่อก่อนธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยและเติบโตให้กับเจ้าของคือธุรกิจการผลิต  เนื่องจากตอนต้นของยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมความต้องการสินค้ามีสูงมาก  แต่โรงงานผลิตมีน้อย  ผู้ที่เป็นเจ้าของกำลังการผลิตสามารถสร้างการเติบโตได้มาก  แต่ในยุคข้อมูลข่าวสารแบบปัจจุบัน  การตั้งโรงงานไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป  การเข้าถึงทุนไม่ยากเช่นกัน  ดังนั้นเราจึงมีกำลังการผลิตที่เพียงพอหรือค่อนข้างมากกว่าความต้องการนิดหน่อยด้วยซ้ำ  ทำให้การหาหุ้นเติบโตในอุตสาหกรรมการผลิตอาจจะทำไม่ได้ง่ายนักเหมือนเมื่อก่อน  (อุตสาหกรรมการผลิตที่โตได้ต้องมี Barrier of entry หรืออาจจะมี ความสามารถบางอย่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง)  ยุคปัจจุบันอาจจะต้องสังเกตธุรกิจที่มีนวัตกรรมที่สร้างสินค้าและบริการที่แตกต่างซึ่งตรงใจผู้บริโภค  โดยเน้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักมากกว่าการมีเงินหรือการเป็นเจ้าของทรัพยากร 

การที่บริษัทจะเป็นผู้นำการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาและนำมาใช้ได้จริงนั้น  จะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถ  ซึ่งผมถือว่า Steve Jobs เป็นตัวอย่างที่ดีมากในการเป็นผู้นำการคิดค้นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ทำให้บริษัทแอปเปิ้ลกลายเป็นผู้นำวงการ IT โลกในปัจจุบัน

แม้ว่าในการทฤษฎีแล้วการลงทุนปัจจัยพื้นฐาน  นักลงทุนจะกลัวการลงทุนที่ต้องพึ่งผู้นำคนเดียวมากเกินไปเพราะถือเป็นความเสี่ยงถ้าผู้นำไม่อยู่แล้ว เช่น เสียชีวิตหรือลาออกจากบริษัท  การลงทุนของเราจะต้องเป็นอันล้มเหลวกันไป

ปู่บัฟเฟตต์บอกว่า  “I try to buy stock in businesses that are so wonderful that an idiot can run them. Because sooner or later, one will.”  ผม(ปู่)พยายามซื้อหุ้นในธุรกิจที่ยอดเยี่ยมที่แม้แต่คนโง่ก็สามารถบริหารได้  เพราะในไม่ช้าจะมีคนโง่เข้ามาบริหารมัน

ซึ่งผมว่าปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากโดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องพึ่งความสามารถเฉพาะตัวของผู้บริหาร

อย่างไรก็ตามเรียนรู้การประเมินคุณสมบัติของ CEO ย่อมเป็นสิ่งดีในการลงทุนหุ้นเติบโต  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆตลอดเวลา  และไม่ว่าธุรกิจจะดีแค่ไหนการที่เรามี CEO ที่มีความสามารถย่อมดีกว่ามี CEO ที่ไม่มีความสามารถอย่างแน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มอง 2 ด้าน

ในยุคที่เต็มไปด้วยแนวคิดมองโลกเชิงบวก (Positive thinking)  จะเห็นได้จากเวลาเราเดินเข้าไปร้านหนังสือจะเจอหนังสือแนวคิดเชิงบวกมากมาย  ซึ่งผมยอมรับว่าการคิดเชิงบวกเป็นสิ่งดีมาก  ทำให้คนเราเห็นโอกาสในวิกฤติ  ทำให้คนเรามีความฝันและมีพลังใจที่จะเดินตามความฝัน  แต่การมองด้านบวกเพียงด้านเดียวนั้นอาจจะไม่ใช่การมองตามจริง  ความจริงคือทุกสิ่งทุกอย่างมี 2 ด้าน  ทั้งด้านบวกและด้านลบ  การมองเพียงด้านเดียวอาจจะทำให้เราขาดมุมมองที่ตรงตามความจริงไป

ถ้าเรามองแต่ด้านบวกแล้วละเลยการมองด้านลบจะมีข้อเสียอย่างไร?

เราจะมองเห็นแต่โอกาสโดยที่เราจะมองไม่เห็นความเสี่ยงเลย  ถ้าเราเป็นนักเรียนแล้วคิดแต่ว่ายังงัยก็สอบได้ชัวร์แล้วไม่อ่านหนังสือเอาเวลาไปเล่นเกมส์โดยไม่คิดจะทบทวนบทเรียน  ต่อให้คิดบวกตลอดเวลาว่าตัวเองสอบผ่านแน่นอน  โอกาสสอบตกย่อมมีสูงกว่านักเรียนที่เตรียมพร้อม,  คนขับรถตู้โดยสารที่เร่งความเร็วให้สูงที่สุดและไม่คิดเลยว่าจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ  ไม่สนใจเสียงท้วงติงของผู้โดยสาร  โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุย่อมมีสูงกว่าคนขับที่ระมัดระวัง,  ทีมฟุตบอลที่คิดแต่จะชนะด้วยวิธีบุกแหลกโดยไม่คิดแผนการป้องกันเวลาโดนฝ่ายตรงข้ามสวนกลับ  โอกาสโดนสวนกลับแล้วเสียประตูย่อมมีสูงกว่าทีมที่ระมัดระวัง   

แนวคิดเชิงบวกได้พูดถึงการมองวิกฤติให้เป็นโอกาส  ซึ่งผมว่าการมองว่าวิกฤติคือโอกาสเป็นความคิดที่ดีมากครับ  แต่หากมองแต่โอกาสโดยไม่ระมัดระวังความเสี่ยงเลย  โอกาสจะกลายเป็นวิกฤติได้เช่นกัน

จะดีกว่าไหมถ้าเรามองตามความจริง  คือ  เห็นทั้งด้านบวกและด้านลบ  เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา

การมองโลกในแง่บวกทำให้เรามีความฝัน  มีเป้าหมาย  มีแรงใจที่จะมุ่งไปข้างหน้า  มองเห็นสิ่งดีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การมองโลกในทางลบทำให้เรารู้จักระมัดระวัง  ประเมินและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น  มีแผนการรับมือ

การมองโลกตามจริงทำให้เรามองทุกอย่างตามสิ่งที่เป็น  มองเห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในทุกสถานการณ์และเลือกรับมืออย่างเหมาะสม

ลองเลือกที่จะมองโลกให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์กันครับ

ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นตลาดกระทิงเป็นเวลายาวนานหลายๆปีนั้น  เราจะได้ยินเรื่องราวของนักลงทุนหน้าใหม่ๆที่ประสบความสำเร็จมากมาย  บางคนบอกว่าตัวเองทำผลตอบแทนได้หลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์  หลายคนใช้เงินกู้ที่เรียกว่าบัญชีมาร์จิ้นลงทุนเต็มที่ตลอดเวลา  หลายคนตั้งตนเองเป็นเจ้าสำนักหรือเป็นเซียน

การเกิด Overconfidence พบได้ในนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังลงทุนมาไม่นานแล้วได้กำไรมากมาย  พวกเขาลงทุนโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงให้ดีพอ  ไม่ว่าจะด้วยการซื้อหุ้นโดยใช้เงินมาร์จิ้นที่ยืมมาจากโบรกเกอร์  เวลาลงทุนก็ซื้อหนักตัวเดียวเต็มพอร์ต  แน่นอนว่าเราอาจจะได้ยินเรื่องราวการได้กำไรจำนวนมากจากการใช้เงินกู้ยืมเหล่านี้  แต่นิสัยที่สั่งสมจากการคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากๆในทุกปีของการลงทุนอาจจะนำมาซึ่งหายนะจากความมั่นใจในตัวเองเกินไป  ลงทุนโดยแบกรับความเสี่ยงที่มากเกินไปตลอดเวลา

ถ้าการลงทุนของพวกเขาเกิดไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจะเกิดอะไรขึ้น?  ผมเชื่อว่าเราคงเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงได้ไม่ยากในช่วงทีตลาดลงหนักจากวิกฤติหนี้ประเทศกรีซที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

อะไรทำให้นักลงทุนมองแต่ Upside เพียงด้านเดียวแบบนี้?  ผมคิดว่าเกิดจากการคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากๆระดับหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์ต่อปี  และการได้กำไรมาง่ายๆ  การฟังคำสรรเสริญของคนอื่นจนย่ามใจ

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)



ต้องออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เก่งการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์  แต่ผมเห็นว่าการศึกษาและเข้าใจเรื่องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต  ทั้งในส่วนการวิเคราะห์หุ้นเติบโตที่ต้นทุนการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรมต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์  และการลงทุนในหุ้นที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง  ผมจึงนำบทวิเคราะห์ภาพรวมของการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำเอาไว้มาแบ่งปันกัน  เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ของผม

หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์จัดเป็นส่วนหนึ่ง  (Subset)  ของหุ้นวัฎจักร  (Cyclic  stock)

หุ้นวัฎจักรเป็นหุ้นที่กำไรขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ  เมื่อตลาดเป็นขาขึ้น  ความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นบริษัทจะกำไรอย่างมาก  แต่ถ้าตลาดเป็นขาลงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  ความต้องการของผู้บริโภคจะลดลงอย่างมากและสวนทางการกับกำลังการผลิตที่ยังสูงต่อเนื่องจากช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง  เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply)  กำไรของบริษัทจะลดลงอย่างมากจนอาจจะถึงขั้นขาดทุนอย่างมาก

ตัวอย่างของหุ้นวัฎจักร  เช่น  บริษัทรถยนต์  บริษัทอสังหาริมทรัพย์  สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ  (สินค้าฟุ่มเฟือยไม่นับรวม โลหะทอง โลหะเงิน  และสินค้าอื่นๆที่มีคุณค่าในเชิงการลงทุนนะครับ)  เพราะช่วงคนเรารายได้น้อยจะดูแลเรื่องปากท้อง  พยายามประหยัด  บ้านที่พออยู่ได้ก็อยู่ไปก่อน  รถพอขับได้ก็ขับไปก่อนหรือขึ้นขนส่งมวลชนไป  เมื่อเศรษฐกิจเมฟื้นตัว  ผู้คนรายได้เพิ่มขึ้น  ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา  ความต้องการสินค้าที่ถูกกดเก็บไว้หลายปีก็ถูกแสดงออก  ยอดขายบ้านขายรถ  สินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มกลับมา  ยอดขายสูงขึ้นมาก  รวมถึงคนใช้จ่ายกับการท่องเที่ยว  สันทนาการต่างๆเพิ่มขึ้น

การลงทุนหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจจนเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว  หุ้นวัฎจักรจึงเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงมาก

เอาล่ะวันนี้เราจะมาพูดถึงเฉพาะส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมนะครับ 

ความสำคัญของการเข้าใจกลไกของสินค้าโภคภัณฑ์

ความรู้จะมีประโยชน์ต่อนักลงทุนที่สนใจหุ้น  2  ประเภทนี้

1.  บริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์

การลงทุนในหุ้นโภคภัณฑ์สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมากหากนักลงทุนลงทุนได้ถูกจังหวะ  และขาดทุนได้อย่างมากเช่นกันถ้าลงทุนผิดจังหวะ  การเรียนรู้กลไกสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เราลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น

2. บริษัทที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าโภคภัณฑ์

แน่นอนว่าเกือบทุกบริษัทต้องใช้ต้นทุนการผลิตและการบริการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์แทบทั้งนั้น  เพียงแต่สัดส่วนอาจจะแต่งต่างกันไป  การทำความเข้าใจสินค้าโภคภัณฑ์จะทำให้เรารู้ถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของกำไรของบริษัทจากการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น  เช่น  ต้นทุนลดทำให้มาร์จิ้นเพิ่มกำไรเพิ่ม  ต้นทุนเพิ่มมาร์จิ้นลดกำไรลด  แต่ถ้าบริษัทสามารถส่งต่อภาระของต้นทุนที่เพิ่มผ่านไปยังผู้บริโภคได้ประเด็นนี้จะไม่น่ากังวลมากนัก

นักลงทุนสามารถลงทุนกับสินค้าโภคภัณฑ์ได้หลายทาง  เช่น  การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงผ่านการซื้อเก็บด้วยตนเอง  หรือผ่านกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์,  อย่างที่สองคือ  การลงทุนในหุ้นที่ผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์,  อย่างสุดท้ายคือ  การลงทุนผ่านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า  (Commodities  future)

แต่บทความนี้จะพูดถึงการลงทุนในหุ้นเติบโตที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก  รวมถึงหุ้นเติบโตที่ใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ  (เรื่องอื่นเช่น  การลงทุนในตัวสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงหรือตลาดสินค้าล่วงหน้าอยู่นอกเขตความถนัดของผมครับ)

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

สรุปเนื้อหาคอร์สการลงทุนของผม (ตอนที่ 2/2 ตอนจบ)

วันนี้มาว่ากันต่อเรื่องกรอบแนวคิดหลักในการลงทุนของผมนะครับ
แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาเรื่องหุ้น  ผมจะขอบอกกล่าวสำหรับผู้สนใจอยากเรียนสักเล็กน้อย

วิธีการใช้ประโยชน์จากบทความนี้
การอ่านบทความ  สรุปเนื้อหาคอร์สการลงทุนของผม  เพื่อนๆจะได้ภาพในมุมกว้างที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน  รวมถึงประเด็นสำคัญในหัวข้อนั้นๆ  ถ้าเพื่อนๆสนใจศึกษาต่อให้ลึกขึ้น  ผมแนะนำว่า

- กรณีที่เพื่อนๆต้องการศึกษาด้วยตนเอง  เนื่องจากติดธุระ ไม่ว่าง  หรือผมอาจจะไม่ว่างสอนเพราะงานประจำเยอะ  (ช่วงนี้เริ่มมีสอบเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะงานวิจัยอีก T_T)  ขอให้อ่านหนังสือและศึกษาลงลึกด้วยตนเองตามประเด็นที่ผมเขียนไว้  (เวลาผมสอนก็จะพูดตามที่ short note ไว้ในบทความนี่ล่ะครับ)  และถ้ามีคำถามสามารถโพสถามได้ทั้งใน blog และ/หรือบน wall ของ facebook ครับ (วิธีนี้น่าจะง่ายที่สุด)
- กรณีที่เพื่อนๆต้องการเรียนกับผมและไม่ต้องการรอให้คนลงชื่อเกิน 5 คน  (เพราะผมจะสอนเมื่อเกิน 5 คนขึ้นไป  และเพื่อนๆอาจจะรอนานเพราะ blog ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก)  ขอให้เพื่อนๆรวบรวมคนที่อยากเรียนมาเองและลงชื่อว่า”ครบ” แล้วไว้ใน blog และ/หรือบน wall ของ facebook ได้ครับ
- กรณีที่มีเพื่อนๆลงชื่อใน blog และ/หรือบน wall ของ facebook  ว่า ”สนใจ” ครบ 5 คน  ผมจะกำหนดวันสอนล่วงหน้านะครับ

ส่วนสถานที่ผมจะนัดเป็น  ห้องสมุดมารวยที่สาขาเอสพลานาดรัชดาภิเษก  วันอาทิตย์เวลาเที่ยงตรง (แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีเก้าอี้ว่างหรือเปล่า...เพราะผมก็ไม่มีสถานที่ส่วนกลางเหมือนกัน  หรือไม่งั้นก็ต้องเป็นโรงอาหารตามมหาลัยที่โต๊ะว่างๆ)

ส่วนถ้าเพื่อนๆคนไหนมีสถานที่รวมถึงมีคอมพิวเตอร์แล้วต้องการให้ผมไปสอนถึงที่  ขอให้เป็นที่ที่ผมสามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าได้  และถ้าเป็นหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ขอใช้เปิดห้องประชุมสอนจะดีมากครับ  (ผมว่างวันอาทิตย์)

ทั้งนี้เพื่อที่ผมจะสามารถสอนฟรีได้  ไม่อยากให้เกิดค่าใช้จ่าย  เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้แบบเท่าเทียมกัน  โดยที่ผมเสียสละแรงกายและเวลาแล้วเพื่อนๆได้ประโยชน์ก็โอเคครับ  :D

ความคาดหวังของผม

ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกคนที่เรียนเล่นหุ้นเป็น  แต่ต้องการให้รู้ว่าจะสร้างความมั่งคั่งทางการเงินให้กับตนเองได้อย่างไร  มีทางไปทางไหนบ้าง  ต้องปรับทัศนคติและเรียนรู้วิธีการตั้งแต่ขั้นพื้นฐานขึ้นไป

อยากให้เลิกคิดว่าคนจะรวยได้ต้องมีบุญวาสนา  ต้องเกิดมาโชคดี  เพราะมันไม่จริงเลยครับ  ทุกอย่างสร้างได้ด้วยการกระทำที่เกิดจากทัศนคติที่ถูกต้อง

รวมถึงต้องการให้ทุกคนมีทัศนคติของการให้  เนื่องจากทุกคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นต่างมาหากำไรทั้งสิ้น  พูดง่ายๆคือมาเอา  เราจะไม่ต่างจากคนทั่วไปเลยถ้าเราไม่รู้จักการให้การแบ่งปันผู้อื่น  เมื่อใจเราลดความโลภลงจากการให้และลงทุนโดยใช้สติและปัญญา  มองตามข้อมูลตามเหตุผลตามข้อเท็จจริง  เราจะแตกต่างจากนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด  และนั่นทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ 

ถ้าคนที่ผมสอนแล้วเล่นหุ้นเป็น  (หมายถึงคนที่มีวิจารณญาณ คิดเองเป็น มีเหตุผล และมีความคิดสร้างสรรค์) และถึงขึ้นเล่นเก่งได้ผมจะดีใจมาก  แต่ผมคาดหวังแค่สอนซัก 100 คนมีอย่างนี้สักคนก็ดีใจแล้วครับ

เอาล่ะ...มาว่าเรื่องเนื้อหากันต่อนะครับ

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สรุปเนื้อหาคอร์สการลงทุนของผม (ตอนที่ 1/2)

บทความนี้ถือเป็นการแชร์แนวคิดหลักทั้งหมดในการลงทุนของผมนะครับ

ในช่วง 1 ปีหลังจากลงทุนในตลาดหุ้น  (ปี 53)  ผมได้พัฒนาหลักสูตร  “การบริหารการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน”  เพื่อสอนนักลงทุนทุนมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การลงทุนเลย  โดยผมตั้งใจว่าจะให้ครอบคลุมแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของการลงทุนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายในเวลา 2 – 3 ชั่วโมง

โดนแรงบันดาลใจในการสอนมาจาก  รุ่นน้องที่ภาควิชา 2 คน  ที่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้น  และผมเองก็ต้องการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นอยู่แล้ว  เนื่องจากตอนผมเริ่มต้นไม่มีคนสอนลงทุนเลย  ผมจึงอยากมอบโอกาสให้คนอื่นๆได้สิ่งที่ผมไม่เคยได้

สำหรับหลักสูตรนี้ผมสอนมาแล้ว 7 ครั้งให้กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆรวมถึงคนรู้จักรอบตัวผม  และตั้งใจจะแชร์ให้กับบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสบ้าง

การที่ผมเป็นมือใหม่ที่ลงทุนมาไม่นาน  และผ่านช่วงความยากลำบากในการเรียนรู้ช่วงเริ่มต้นทำให้ผมเข้าใจว่ามือใหม่ต้องการอะไรติดขัดตรงไหน  โดยที่คนมีประสบการณ์หรือเซียนอาจจะไม่เข้าใจคนที่กำลังเริ่มต้นเท่าไรนัก

โดยหลักสูตรนี้ฟังได้ตั้งแต่คนที่ไม่รู้อะไรเลย...ไปจนถึงนักลงทุนที่ลงทุนมาแล้วหลายปีครับ

ปล.  ผมสอนฟรีนะครับ  (เป็นวิทยาทาน)  สอนทุกคนที่ตั้งใจอยากเรียน  (แต่ไม่รับคนไม่ตั้งใจจริง  ไม่รับคนต้องการมาขอหุ้นโดยไม่คิดจะทำการบ้าน  ไม่รับคนที่ต้องการมาลองภูมิครับ  เนื่องจากผมต้องเสียเวลาและแรงกายค่อนข้างมากจึงอยากเสียสละให้คนที่ต้องการจริงๆครับ)  และขอให้มีอย่างน้อยครั้งละ 5 คนขึ้นไป  (ยิ่งนักเรียนเยอะเท่าไรยิ่งดี)  เพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์จากการแชร์ความคิดกัน  และใช้เวลาทั้งหมด  2 ชั่วโมงครึ่งครับ  รวมเวลาตอบคำถามก็ประมาณ 3 ชั่วโมงครับ

ปล.2  update 14 มี.ค. 55 ผมของดสอนอย่างไม่มีกำหนดนะครับ เนื่องด้วยติดภารกิจทั้งเรื่องงาน การเรียนและครอบครัว ขอบคุณทุกคนที่สนใจนะครับ ผมเองก็ยังอยู่ตรงนี้ มีคำถามอะไรสามารถโพสถามหน้า wall หรือใน blog ได้เลยครับ

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนพิเศษ) Anti-Overconfidence

ขออธิบายสำหรับเพื่อนๆนักลงทุนที่เพิ่งเข้ามาใหม่  Series  พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน  เป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการลงทุนในหัวข้อต่อไปนี้

1.  Efficient  market  hypothesis  ทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ
2.  Behavioral  finance  การเงินเชิงพฤติกรรม
3. Reflexivity  หลักปฎิกริยาสะท้อนกลับ
4. Consumer behavior and  life style  พฤติกรรมผู้บริโภคและวีถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม
5. Mr. Market  นายตลาด
6. การฝึกพัฒนาจิตใจสำหรับนักลงทุน  เพื่อให้หลุดพ้นไปจากอคติทางจิตใจต่างๆที่คอยชี้นำเราอยู่  และได้ผลตอบแทนทั้งตัวเงินและความสุขใจครับ

โดยผมพยายามจะเขียนบทความจิตวิทยาการลงทุนประมาณเดือนละครั้ง  เนื่องจากผมให้ความสำคัญกับ Psychology  ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน

ในบทความพฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน(ตอนที่ 2) การรับรู้อันผิดเพี้ยน  ผมได้พูดถึงเรื่อง  Overconfidence –  ความมั่นใจเกินไป  ครั้งนี้ผมจะมาพูดถึงสิ่งตรงข้ามนั่นคือ การ Anti-Overconfidence 



คนเราทุกคนล้วนแสวงหาการยอมรับจากผู้คนรอบข้าง  ตามทฤษฎีของมาสโลว์  Maslow  hierarchy of need  ซึ่งมีทั้งหมด 5 ขั้น

1. Physiological  need  ความต้องการทางร่างกาย
2. Safety  need  ความต้องการความปลอดภัยและความมั่นคง
3. Love  and  Belonging  ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ
4. Esteem  ความต้องการการยอมรับนับถือจากตนเองและผู้อื่น
5. Self-actualization  ความต้องการที่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริง

โดยการต้องการการยอมรับจากสังคมและคนรอบข้างจะอยู่ในขั้นที่ 3 และ 4

คนเราคงหลีกเลี่ยงที่จะไม่มีความต้องการยอมรับจากคนอื่นได้ยาก  แม้ว่าหลายครั้งความต้องการยอมรับจากคนอื่นจะนำมาซึ่งความทุกข์ใจก็ตาม

ถ้าเราอยากให้คนยอมรับโดยใช้วิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสมก็ดีไป  แต่ในบางครั้งการพยายามเชื่อมั่นในตนเองจนเกินไปเพื่อให้คนยอมรับก็อาจจะนำมาซึ่งหายนะ  รวมถึงหายนะในการลงทุนด้วยครับ

ผมขอแชร์ประสบการณ์ของผมนะครับ

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Exit Strategy

เวลาที่เราจะเข้าพักอาศัยในอาคารสูง  ไปเดินห้างสรรพสินค้า  นอกจากการเพลิดเพลินชมสิ่งสวยงาม  เครื่องเรือนทันสมัยในตัวอาคารแล้ว  สิ่งหนึ่งที่เราควรจะทำคือ  “สังเกตทางหนีไฟ”

เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน  เช่น  ไฟใหม้  หรือแม้แต่เกิดการระเบิดในตัวอาคาร  คนที่เตรียมพร้อมในการออกจากตัวอาคารคือคนที่รอดตาย  โดยผ่านทางหนีไฟที่พวกเขาเห็นก่อนหน้าที่ไฟจะใหม้

ในการทำสงครามนั้นจะมีทั้งการบุกและการตั้งรับ เมื่อกองกำลังของเราได้เปรียบ  เราอาจจจะทำการบุก  เมื่อกองกำลังของเราเสียเปรียบเราอาจจะทำการตั้งรับ  หรือแม้กระทั่งหนีให้เป็นเพื่อเอาชีวิตรอดมาต่อสู้ใหม่

36 กลยุทธ์  จึงมีกลศึกสุดท้ายคือ  “หนีคือสุดยอดกลยุทธ์”

ดังนั้นเราจะมาคุยกันถึงกลยุทธ์การถอยในการลงทุนกันครับ

ยุทธศาสตร์ทางออก (หรือ Exit Strategy)  ของการลงทุนในหุ้นเติบโต 



เวลาที่นักเดินป่าเข้าในในป่าที่เป็นเขาวงกตและติดอยู่ในนั้นเป็นเวลานาน  เข็มทิศไม่สามารถใช้การได้  พวกเขาไม่สามารถหาทางออกได้เลย  เพราะจริงๆแล้วทางออกที่พวกเขาตามหาไม่ได้มีอยู่

ทางออกที่จริงอยู่ที่ทางเข้านั่นเอง  !!

ในการลงทุนก็เช่นกัน  ก่อนที่เราจะทำการเข้าลงทุนซื้อหุ้น  เราต้องประเมินทางถอยไปพร้อมกันตั้งแต่เราเข้าซื้อแล้ว  ...ว่าหุ้นตัวนี้เราจะขายเมื่อไร?

“ซื้อเพราะเหตุผลไหน  ให้ขายด้วยเหตุผลนั้น”  ยังเป็น  quote  ที่ใช้ได้อยู่เสมอ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กรณีศึกษา : หุ้น JUBILE

(คำเตือน ... ผมไม่ได้เชียร์หุ้นนะครับ  เอามาเป็นกรณีศึกษาวิธีคิดเฉยๆ  ซื้อตามอาจจะขาดทุนได้ครับ)

ผมนั่งคิดอยู่นานมากว่าจะแสดงวิธีคิดการวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัวดีใหม?  สรุปว่า... ลองดูก่อนละกัน  ถ้ามีปัญหาก็จะเลิกทำ  เพราะน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจวิธีการคิดวิเคราะห์การลงทุนในหุ้นเติบโต  ทุกคนที่รู้จักผมจะรู้ดีว่า...ผมไม่เคยเชียร์หุ้นเลย ไม่ใช่เพราะหวงหรืออมภูมิอะไร  ถ้ามีคนถามก็ผมจะบอกและต้องบอกเสมอว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง... ถ้าผมคิดว่าคนที่ถามหุ้นมีวิจารณญาณที่จะไม่ลอกโดยไม่ผ่านการไตร่ตรองก่อนผมก็จะบอกหมด ...ที่ผมกลัวที่สุดคือเวลาคนซื้อตามแล้วขาดทุน  เพราะงั้นคนที่ผมกล้าบอกหมดคือผมมั่นใจว่าเขาคิดเองเป็นรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองได้  ยิ่งคนที่เห็นต่างสามารถหาเหตุผลเจ๋งๆมาแย้งได้ (ไม่ใช่แบบเถียงข้างๆคูๆนะครับ) ผมยิ่งชอบ Discuss ด้วย

คนที่ชอบเชียร์หุ้นที่ตัวเองถือมีมากมายเลยครับ  ทั้งในเวปบอร์ดทั้งในชีวิตจริง  หุ้นจะได้ขึ้นเร็วๆแรงๆแล้วคนตามไปทีหลังก็เจอดอยกันไป  ซึ่งเป็นวิธีที่ผมไม่ชอบมากๆเลยครับ  (ซึ่งคนเก่งๆหลายคนไม่เชียร์หุ้นก็ยังประสบความสำเร็จกันได้ครับ) ผมไม่เชียร์หุ้นซักคนวงการหุ้นก็คงจะไม่เป็นไร  เพราะการถือหุ้นเติบโตหวังการขึ้นของราคาจากการเติบโตธุรกิจที่ส่งผลต่อการเติบโตของกำไร  และผมชอบสอนวิธีคิดมากกว่าครับ 

เริ่มกันเลยนะครับ...

การวิเคราะห์หุ้นของผมจะเน้นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณนะครับ  เพราะผมคิดว่าปัจจัยเชิงคุณภาพบอกอนาคตได้ดีกว่า  ขณะที่ตัวเลขทางการเงินจะบอกได้แค่อดีตกับปัจจุบันซึ่งเอาไว้ใช้ตรวจสอบสมมุติฐานของเราเท่านั้น

Jubile  เป็นตัวที่ได้ผลตอบแทนน้อยที่สุดในพอร์ตเมื่อปีที่ผ่านมา  (ได้มาประมาณ  90 เปอร์เซ็นต์ไม่รวมปันผล)  แต่ถ้าบริษัทยังมีการเติบโตอยู่ผมก็ถือต่อไป แล้วปีนี้  Jubile กลายเป็นหุ้นที่ performance ดีที่สุดในพอร์ต (มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่รวมปันผล)  (ต่อให้ราคาถึง Full-Valued ของปีนี้ผมก็ยังถือต่อไป  จนกว่าจะถึงราคาที่เป็น  room of growth  ของบริษัท – ลองอ่านในบทความ ”เพดานของการเติบโต” ได้ครับ)

นั่งเปิดสมุดที่เขียนสิ่งผมได้คิดวิเคราะห์ลงไปก่อนซื้อหุ้น...

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้จักและเข้าใจตนเองก่อนลงทุน

เวลาที่มือใหม่ที่สนใจลงทุนในหุ้นเข้ามาตลาดหุ้นใหม่ๆมักจะมองดูคนที่ประสบความสำเร็จว่าใช้วิธีใดบ้าง  เพื่อจะได้ทำตามแล้วประสบความสำเร็จเหมือนกัน  พอมือใหม่เห็นว่านักเก็งกำไรชั้นเซียนทำเงินได้มากมายก็ลองไปเล่นแบบเก็งกำไรแล้วก็ขาดทุนหนักเพราะไม่รู้จังหวะเข้าออก  แล้วพอเห็นว่านักลงทุนกลุ่ม Value investor ชั้นเซียนทำกำไรได้มากมายก็ไปลองเล่นแบบ VI แต่เนื่องจากวิเคราะห์หุ้นไม่เป็นและซื้อที่ราคาแพงหรือซื้อตามเซียนทำให้ขาดทุนหนัก

นักลงทุนที่มองหาสูตรสำเร็จด้านการลงทุนว่าจะต้องทำ 1-2-3-4  แล้วประสบความสำเร็จแบบแน่นอน  ผมบอกได้เลยครับว่า”ไม่มี”  เพราะเมื่อคุณก้าวออกมาจากโลกแห่งความมั่นคงของดอกเบี้ยเงินฝาก (กรณีที่รัฐยังคุ้มครองอยู่)  คุณจะต้องพบกับความเสี่ยง  ไม่ว่าคุณจะลงทุนทำธุรกิจด้วยตนเองหรือเป็นนักลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดๆก็ตาม  นั่นคือคุณมีโอกาสขาดทุนหรือเจ๊งได้

แต่ความเสี่ยงไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งเราจากความสำเร็จครับ

การบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk/Reward) อย่างเหมาะสมจะทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จได้  ...แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ?  การเรียนรู้จากนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งจำเป็นครับ แต่การทำตามแนวทางการลงทุนของเซียนโดยไม่รู้จักตนเองเลยนั้น  ก็เหมือนกับการเลือกอาวุธที่ไม่เหมาะสมกับตนเองออกไปสู้  ...อาวุธ เช่น ดาบคู่ อาจจะเป็นยอดศาสตราเมื่ออยู่ในมือยอดนักรบอย่างมูซาชิ  แต่ถ้าดาบคู่เล่มเดียวกันอยู่ในมือของทหารเลวคงไม่สามารถสำแดงพลังออกมาได้  แต่ไม่ได้หมายความว่าดาบคู่ไม่ใช่อาวุธที่ดี

การเข้าใจความสามารถ  ความถนัดของตนเอง  เลือกอาวุธที่เหมาะสมกับตนเอง  จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อนักรบที่จะก้าวสู่สนามรบที่เต็มไปด้วยยอดฝีมือระดับสูงแล้วเป็นผู้ชนะได้ (หรืออย่างน้อยไม่แพ้ เอาตัวรอดได้)

นักเก็งกำไรชั้นเซียนระบบการเทรดยังไม่เหมือนกัน  บางคนดู MACD  บางคนดู RSI  บางคนดู indicator ของตนเอง  นักเก็งกำไรบางคนดูข่าวควบคู่ไปด้วย  บางคนดูแต่กราฟไม่ดูพื้นฐานเลย (จริงๆ ผมก็ยังไม่ถ่องแท้เรื่องการเทรดเท่าไรนักนะครับแค่ยกตัวอย่างให้ฟัง) ...นักลงทุนเน้นคุณค่าเองก็มีแนวทางและความถนัดในรูปแบบที่แตกต่างกัน  เช่น  บางคนชอบหุ้นโภคภัณฑ์  บางคนชอบหุ้นเติบโต  บางคนถือแต่หุ้นสุดยอด (Super stock)  บางคนดูทั้งพื้นฐานหุ้นและดูกราฟประกอบไปด้วย  บางคนไม่ใช้กราฟเลย  บางคนเล่นรายไตรมาส  รายปี  ขณะที่บางคนดูยาวไป 5 ปี  ฯลฯ

ดังนั้นความเข้าใจตนเองของนักลงทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกแนวทางการลงทุนของตนเองเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ  ผมเองสอนมือใหม่มาหลายรุ่น  นักเรียนแต่ละคนผมก็ไม่เคยบอกว่าจะต้องทำแบบผมนะ ต้องลงทุนในหุ้นเติบโตแล้วถือยาวๆถึงจะดีนะ  บางคนดูแววแล้วน่าจะเป็นนักเก็งกำไรที่ดีได้ผมก็แนะนำแนวทางเก็งกำไรไป  แต่ผมสอนรายละเอียดไม่ได้เพราะผมไม่ถนัดเก็งกำไร  ผมสอนแต่สิ่งที่ผมเข้าใจและเชื่อมั่นเท่านั้น

ในการทำความเข้าใจตนเองนั้น  ประเด็นที่ต้องสังเกตผมว่ามีดังนี้ครับ   

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนังสือที่ผมแนะนำให้นักลงทุนอ่าน

ช่วงนี้ผมได้รับคำถามเรื่องหนังสือค่อนข้างบ่อยจากเพื่อนนักลงทุนหน้าใหม่ผู้ที่สนใจการลงทุนในหุ้น  ถ้าเพื่อนๆสนใจการลงทุนแนวใช้ปัจจัยพื้นฐาน  ผมมีหนังสือที่แนะนำดังนี้ครับ

หนังสือที่”ต้องอ่าน” (ทุกเล่มเป็นภาษาไทยครับ)

1.คัมภีร์หุ้น โดย คุณ โสภณ ด่านศิริกุล (อ่านเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเล่นหุ้น) และ rich dad poor dad พ่อรวยสอนลูกเล่ม 1-2 เพื่อได้ concept ทรัพย์สิน หนี้สิน การลงทุนและเงิน 4 ด้าน

2. ตีแตก โดย ดร. นิเวศ เหมวชิรวรากร (เซียนหุ้นกูรูการลงทุนแบบ VI) (จริงๆควรอ่านทุกเล่มที่ดร.เขียนครับ)

3. หนังสือของ Peter Lynch (ปีเตอร์ ลินส์) ทั้ง 3 เล่ม
- One up on wall street (เหนือกว่า วอลสตรีท)
- Beating the street (ลงทุนอย่าง...ปีเตอร์ ลินส์)
- Learn to earn (เรียนให้รวย)

4. หนังสือที่พูดถึงแนวคิดของ Warren Buffet (วอเรน บัฟเฟตต์) เล่มที่ผมแนะนำมีดังนี้
- แก่นแท้ของบัฟเฟต์ (The essential Buffet) เขียนโดย Robert G. Hagstrom
- How Buffet does it? ตามรอยวอเรน บัฟเฟตต์ เขียนโดย James Pardoe
- ศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์ (Buffettology) เขียนโดย Mary Buffet และ David Clark
- Warren Buffet and the art of stock arbitrage

5. หนังสือที่แปลโดยคุณ พรชัย รัตนนทชัยสุข ดังนี้
- ลงทุนสวนกระแสอย่าง...แอนโทนี โบลตัน (Investing against the tide) เขียนโดย Anthony Bolton
- นักลงทุนดันโด : The Dhandho Investor เขียนโดย Mohnish Pabrai
- The intelligence investor เขียนโดย  Benjamin Graham (อาจารย์ของบัฟเฟตต์  ปรมาจารย์การลงทุนแบบ VI)
- การลงทุนแบบเน้นคุณค่า มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

6. หนังสือด้านบัญชี ดังนี้
- อ่านงบการเงินให้เป็น เขียนโดย ดร. ภาพร เอกอรรถพร
- ร้านไหนกำไรมากกว่า
- วอเรน  บัฟเฟตต์  และการตีความงบการเงิน

7. หนังสือซีรี่หุ้นห่านทองคำของ คุณ เทพ รุ่งธนาภิรมย์ เล่มที่แนะนำดังนี้
- กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ, ยุทธศาสตร์หุ้นห่านทองคำ (จริงๆก็น่าอ่านทุกเล่ม)

8. หนังสือของคุณสุมาอี้ (นรินทร์  โอฬารกิจอนันต์) ทุกเล่ม โดยเฉพาะ
- วัดมูลค่าหุ้นด้วยตัวคุณเอง
- 85 ไอเดียการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
- ตลาดหุ้นไทย the survival kit
- มหัศจรรย์กลยุทธ์ทางธุรกิจ
- โอกาสและความน่าจะเป็น

9. หนังสือ Money Game ผ่ากลเงินนอก เขียนโดย คุณ วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล (เซียน Fundflow)

10. หนังสือของ Philip A. Fisher
- Common stocks uncommon profits
- Paths  to the wealth through common stocks

11.หนังสือแนวคิดของ John Neff – ลงทุนแบบจอห์น เนฟฟ์

12. หนังสือแนวจิตวิทยาการลงทุน เช่น  Sway (เขว), พฤติกรรมพยากรณ์ (Predictably irrational) เป็นต้น

นี่ยังไม่รวมหนังสือที่ควรอ่านอีกมากมายนะครับ (ว่างจะมา update ต่อ – เยอะมากๆ)

ถ้ายังรู้สึกว่าเยอะให้อ่านแค่ ตีแตก และ เหนือกว่า วอลสตีท ไปก่อนครับ

บางทีเพื่อนๆเห็นรายชื่อหนังสือแล้วอาจจะเริ่มเสียดายเงินค่าหนังสือ (ผมน่าจะหมดไปเป็นหมื่นกับค่าหนังสือ) แต่ผมยืนยันว่าทุกเล่มคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป การลงทุนในความรู้สามารถทำเงินตอบแทนคืนมาให้เราได้หลายเท่านัก บางคนเสียดายเงินค่าหนังสือจำนวนเล็กน้อยแต่ต้องไปขาดทุนในตลาดเป็นเงินจำนวนมากๆเพราะขาดความรู้ในการลงทุนครับ

การลงทุนในความรู้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตครับ

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทบทวนความผิดพลาดครึ่งปี 54

ในการลงทุนนักลงทุนควรจะมีการวัดผลเปอร์เซ็นต์ของผลตอบแทนที่เราทำได้เมื่อเทียบกับเงินต้น  ซึ่งการวัดอาจจะทำปีละครั้ง  เนื่องจากการวัดผลตอบแทนบ่อยๆนั้นเป็นการเสียเวลาในการไปวางกลยุทธ์  การศึกษาข้อมูลของหุ้นที่เรากำลังจะเข้าซื้อหรือหุ้นที่เราถืออยู่  นอกจากนั้นผลตอบแทนระยะสั้นรายวันรายเดือนหรือแม้แต่รายไตรมาสอาจจะไม่ได้บอกอะไรมากนักถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว 
โดยสูตรการคิด  ผลตอบแทนพอร์ต (IRR – Internal rate of return)  ที่ผมใช้คือ

ลองสมมุติค่าต่างๆ

A = เงินในพอร์ตปลายปี (ทั้งเงินสดและหุ้น)
B = เงินทั้งพอร์ตต้นปี (ทั้งเงินในหุ้นและเงินสดรอซื้อหุ้น)
C = เงินเก็บที่เพิ่มเข้าพอร์ตระหว่างปี
X = (จำนวนเดือนของเงิน C/12) x C

สรุป    ผลตอบแทนพอร์ต (IRR)  =  (A - B - C)/ (B + X)

โดยการเทียบผลตอบแทนพอร์ตให้เทียบกับทั้ง 3 ข้อดังนี้
1. ดัชนี SET index ถ้าชนะตลาดถือว่าใช้ได้
2. ไม่ขาดทุน  (เมื่อมองภาพรวมทั้งพอร์ต)
3. ทำผลตอบแทนให้ได้อย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (เพราะถ้าทำได้น้อยกว่านี้เราควรจะไปลงทุนในกองทุนดัชนีหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมากกว่าจะลงทุนเอง)

อย่างไรก็ตามแม้แต่การวัดผลการลงทุนปีต่อปีก็อาจจะยังบอกถึงผลตอบแทนระยะยาวระดับ 5-10 ปีไม่ได้  เช่น หุ้นบางตัวนิ่งหรือซึมลงหลายปีก่อนที่จะวิ่งรุนแรงหลายเด้งในปีเดียว  ดังนั้นการวัดผลตอบแทนพอร์ตจึงควรพิจารณาตามกลยุทธ์ในการลงทุนของเราด้วยครับ  (เพราะถ้าเจอหุ้นแบบนี้แล้ววัดผลตอบแทนบ่อยๆนักลงทุนจะหมดกำลังใจถือได้ครับ)

ในครึ่งปีนี้ผลตอบแทนพอร์ตโดยรวมของผมอยู่ที่ 14-15 เปอร์เซ็นต์  ยังชนะตลาดอยู่ครับแต่อาจจะไม่มากเท่าปีก่อนๆ   

และอีกอย่างที่ควรทำควบคู่กันไปคือ...ให้กลับมาทบทวนความผิดพลาดของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา โดยทบทวนบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  โดยผมจะจดบันทึกความผิดพลาดลงไปทุกครั้งและพยายามที่จะไม่ทำซ้ำอีก

และนี่คือความผิดพลาดของผมโดยสรุปในช่วงครึ่งปี 54

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กลยุทธ์การลงทุนจากหมากกระดาน (ตอนที่ 2)

    มาว่าเรื่องหมากล้อมกันต่อนะครับ

ถึงแม้ว่าการเล่นโกะจะดูเรียบง่าย  แต่ด้วยความน่าจะเป็นของรูปแบบหมากที่สูงมากของโกะ  ทำให้มีอิสระในการวางกลยุทธ์มาก  เราจึงพบเห็นนักเล่นโกะหลายรูปแบบ  บ้างก็เน้นล้อมมุมให้รัดกุม  บ้างก็เน้นขยายอิทธิพล  บ้างก็เป็นสายโจมตี  บ้างก็เป็นสายป้องกัน ปัจจุบันยังบอกไม่ได้ว่าแนวทางไหนดีที่สุด  ซึ่งกลยุทธ์ทั้งหลายที่นำมาใช้ล้วนแล้วแต่มุ่งไปสู่เป้าหมายของเกมส์คือ ...ชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด  (ไม่ใช่จับกินให้ได้มากที่สุด)

ในการลงทุนนั้นความจริงก็เรียบง่าย  แค่ต้องซื้อถูกขายแพง  คุณก็จะเป็นผู้ชนะในเกมส์นี้  แต่ด้วยความน่าจะเป็นมากมายของเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อธุรกิจและราคาหุ้นในอนาคต  ทำให้เกมส์การลงทุน  (ซึ่งผมถือว่าเป็นหมากกระดานอย่างหนึ่ง)  นั้นไม่ง่ายเลย   มีการคิดกลยุทธ์การลงทุนมากมายหลายสำนัก  ไม่ว่าจะเป็น  Quant (การใช้คณิตศาสตร์ในการลงทุน)  นักลงทุนสายเทคนิคอล  นักลงทุนแนวปัจจัยมหภาค  นักลงทุนหุ้นคุณค่า  ฯลฯ  ซึ่งแต่ละแบบสามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีกมากมาย

เวลาเราเล่นหมากกระดาน  ถ้าเราเล่นไม่เป็นเราจะเฉยๆแพ้ก็ช่างชนะก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าเราเล่นไปได้สักพักจนเข้าใจเกมส์  เราจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับกับเกมส์  ตื่นเต้นเมื่อเสียเปรียบ ดีใจเมื่อได้เปรียบ  เสียใจเมื่อแพ้  ดีใจเมื่อชนะ ยิ่งถ้าเป็นการเล่นแบบเดิมพันยิ่งทำให้เกมส์มีผลต่ออารมณ์เพิ่มขึ้นไปตามน้ำหนักของการเดิมพันนั้น

การลงทุนก็คือเกมส์การเงิน  (ซึ่งผมถือว่าเป็นหมากกระดานอย่างหนึ่ง)  ที่มีการเดิมพันสูงกว่าการแข่งชิงแชมป์ทุกหมากกระดาน  เพราะมีเม็ดเงินที่ได้เสียจากการซื้อขายนับพันๆล้านบาทต่อวัน  (ถ้าคิดรวมทั้งโลกยิ่งสูงกว่านี้หลายเท่า)  ดังนั้นผลกระทบต่อจิตใจยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว  บางคนอาจจะถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ต้องอาศัยการฝึกฝนจิตใจร่วมไปกับการฝึกกลยุทธ์การเดินหมาก  ในการเล่นโกะระดับสูงหรือการแข่งชิงแชมป์  การอ่านทางหมากอาจจะไม่สำคัญเท่าการควบคุมจิตใจ  เพราะนักเล่นโกะชั้นเซียนนั้นต่างรู้อยู่แล้วว่าในแต่ละสถาณการณ์ควรดินหมากอย่างไร  แต่จะทำได้หรือไม่อยู่กับสภาพจิตใจ

และเมื่อเล่นไปถึงจุดหนึ่งเราจะเลิกยึดติดแพ้ชนะ  จะมีแต่ดำกับขาว  ชนะหรือแพ้ก็ต้องเรียนรู้  ไม่มีการยึดติดว่าชั้นชนะ เธอแพ้  มีแต่ขาวกับดำ  และดูกระบวนการเดินหมากเป็นหลัก

นั่นคือชนะได้โดยไม่คิดเอาชนะ...หมั่นสร้างเหตุที่ดีผลที่ดีจะตามมาเอง

การลงทุนก็เช่นกัน...เมื่อเราฝีมือการลงทุนเก่งขึ้น  ไม่ว่าเราได้กำไรหรือขาดทุนเราจะเรียนรู้จากมัน  มากกว่าที่มาคร่ำครวญเมื่อขาดทุนหรือคุยโม้โอ้อวดว่าได้กำไร  มีแต่กระบวนการคิด  การตัดสินใจและพอร์ตการลงทุน  ไม่มีตัวกูของกูอยู่ในนั้น  และฝึกฝนฝีมือให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ  จิตใจเปิดกว้างให้กับการศึกษา

ถึงไม่คาดหวังผลตอบแทนที่เป็นเลิศ...แต่ถ้าหมั่นสร้างเหตุที่ดี  บริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างฉลาด  ผลตอบแทนที่ดีจะตามมาเอง

สำหรับผม...การลงทุนนั้นจะยากกว่าหมากกระดาน  เพราะการลงทุนมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากกว่าบนกระดาน

เรามาว่ากันต่อเรื่องกลยุทธ์หมากล้อมที่สำคัญๆที่นำไปใช้ได้กับการลงทุนกันครับ

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กลยุทธ์การลงทุนจากหมากกระดาน (ตอนที่ 1)

ในปัจจุบันมีการใช้คำว่า “กลยุทธ์” (Strategy)  มากมายทั้งในวงการเมือง  วงการทหาร(การรบ)  วงการธุรกิจ  เรียกได้ว่าเป็นศัพท์ของผู้บริหารระดับสูง  เนื่องจากเป็นคำที่คนทั่วๆไปไม่ค่อยได้ใช้กัน  ผมจึงไปลองค้นความหมายดู


ความหมายของคำว่า “กลยุทธ์” ในพจนานุกรมราชบัณฑิยสถาน  คือ  การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม,  วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่างๆ,  เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้  (หรือจะใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” แทนคำว่ากลยุทธ์ก็ได้ครับความหมายเดียวกัน)  ฟังความหมายตามพจนานุกรมอาจจะยังงงๆกัน ...ดังนั้นผมจะพูดตามที่ผมเข้าใจดีกว่า

และยังมีอีกคำนึงที่มักจะสับสนกัน  คือ  “ยุทธวิธี” (Tactics)  หมายถึง  วิธีการในระดับรายละเอียด  เพื่อนำมาใช้ดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้  (กลยุทธ์จะบอกวิธีการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในภาพรวม)

ซึ่งทั้ง Strategy และ Tactics เป็นคำที่มักจะใช้คู่กัน  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่เราวางเอาไว้

ผมไม่ใช่นักบริหารระดับสูงแต่อย่างใด  แต่ผมคุ้นเคยกับคำว่า “กลยุทธ์” และการใช้กลยุทธ์เป็นอย่างมาก  เนื่องจากตอนเด็กๆผมชอบอ่านสามก๊กและตำราพิชัยสงครามของซุนวู  รวมถึงชอบเล่นหมากกระดานที่ต้องใช้การคิดและวางแผน  โดยความหมายของกลยุทธ์สำหรับผมคือ...การใช้วิธีการต่างๆเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราวางเอาไว้  นั่นคือ  เราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร?  และเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร?

แล้วกลยุทธ์มีความสำคัญอย่างไรกับการลงทุน?

นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในตลาดหุ้นมีเป้าหมายเพื่อต้องการกำไร  ต้องการเป็นอิสระภาพทางการเงิน  โดยมากนักลงทุนที่เข้ามาใหม่ๆมักจะคิดว่า  การมีหุ้นเด็ดคือคำตอบของทุกอย่าง  เหมือนแทงหวยก็ต้องมีเลขเด็ด  แต่ความจริงแล้วนักลงทุนระดับเซียนนั้น  การซื้อหุ้นถูกตัวเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ  จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการลงทุนด้วย

พูดไปอาจจะยังไม่เชื่อ...งั้นหาลองดูว่า  มีนักลงทุนรายย่อยมากมายแค่ไหนที่ซื้อตามเซียนแล้วขาดทุน  ซื้อต้นทุนเท่าเซียนแล้วยังกำไรน้อยกว่าหรือขาดทุน  เพราะการที่นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ขาดกลยุทธ์ในการลงทุน

ผมถึงได้พยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องของกลยุทธ์ออกมา  การเรียนรู้เรื่องกลยุทธ์ผมคงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงหมากกระดาน...และหมากกระดานที่ผมคิดว่าใช้ในการฝึกการคิดเชิงกลยุทธ์ได้อย่างดีเยี่ยมคือ  หมากรุก  และหมากล้อม(โกะ)

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมมนุษย์และตลาดทุน (ตอนพิเศษ) ยอมรับความจริง

ตลาดหุ้นเป็นแหล่งรวมรวมแนวคิดด้านการลงทุนไว้มากมาย  นักลงทุนที่ใช้แนวทางใดก็จะมีความเชื่อมั่นต่อแนวคิดของตนเอง  ซึ่งอาจจะมาจากการค้นคว้าด้วยตนเองหรือศึกษาจากอาจารย์  เมื่อลงทุนแล้วประสบความสำเร็จระดับนึงจะเกิด ”อัตตา” ความเชื่อมั่นว่าตนเองเก่ง  แนวทางที่ตนใช้ถูกต้อง  แนวคิดคนอื่นผิดพลาด

เนื่องจากการลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่มองไปยังอนาคต  จึงไม่อาจจะทำนายได้แน่นอน  เปรียบเสมือนการดูหมอ  ช่องว่างแห่งความไม่รู้อนาคตได้ก่อเกิดแนวคิดที่หลากหลาย

เวลาที่ได้กำไรก็ดีใจกันไป  แนวทางของฉันถูกต้องที่สุด  แต่ถ้าเริ่มขาดทุนหรือติดตัวแดง  ก็จะเกิดความคิดที่มาปกป้องความเชื่อของตนเอง ที่เรียกว่า  กลไกป้องกันทางจิต  (Defense mechanism)

Sigmund Freud

ตามทฤษฎี  Ego psychology ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ต่อยอดมาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Theory of psychoanalysis) ของ Sigmund  Freud  นายแพทย์ชาวออสเตรียผู้โด่งดัง  ซึ่งบุคคลสำคัญของแนวคิด Ego psychology นี้คือ  Anna Freud  ซึ่งเป็นลูกสาวของ Sigmund Freud โดยทฤษฎี  Ego psychology จะเน้นในส่วนบทบาทของ Ego และกลไกป้องกันทางจิต  ซึ่งแนวคิดของกลไกป้องกันทางจิตถูกอธิบายละเอียดขึ้นมากกว่าที่ Freud ได้อธิบายไว้ในตอนแรก

(ผมจะไม่ลงลึกเรื่อง Ego นะครับ เดี๋ยวจะยาว  เพราะต้องอธิบายโครงสร้างของจิตใจด้วย จะพูดถึงแต่กลไกป้องกันทางจิตซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานของ Ego ในระดับจิตใต้สำนึก)

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นเช่น  หุ้นตกหนัก  พอร์ตติดลบ  หุ้นขึ้นแต่ไม่ได้ซื้อ(ตกรถ)  จิตใจจะเกิดความวิตกกังวลขึ้น (Signal anxiety) เพื่อเตือนให้รู้ว่าจิตใจกำลังได้รับอันตราย  กลไกแรกที่จิตใจนำมาใช้คือ การเก็บกด (repression) โดยกระบวนการนี้เกิดในระดับจิตให้สำนึกด้วยความรวดเร็วมาก (Unconscious level)  แต่เมื่อใดที่ระดับความกังวลมีมากจนการเก็บกดเริ่มไม่ได้ผล  ความกลัวและความกังวลจะเริ่มขึ้นสู่การรับรู้ของจิตใจในส่วนของจิตสำนึก (Conscious level)

แล้วกลไกป้องกันทางจิตอื่นๆจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการปกป้องจิตใจจากความกังวล